Saturday, May 18, 2013

การหลุดพ้น (Mukti)


การหลุดพ้นและการหลุดพ้นจากบ่วงพันธะขณะที่มีชีวิต
(Mukti and Jeewan Mukti)
เป้าหมายของมนุษย์ที่ต้องการจะได้รับจากการฝึกราชโยคะทุกวันนี้คือ การบรรลุถึงการหลุดพ้นและการหลุดพ้นจากบ่วงพันธะขณะที่มีชีวิต ความหมายของคำทั้งสองจะต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจน ในกลียุคนั้น เนื่องจากความมีสำนึกแห่งการเป็นร่างอย่างเต็มที่ มนุษย์จึงถูกผูกติดไว้กับบ่วงพันธะแห่งสัมพันธ์ทางร่างกับบุคคลหรือสิ่งของในโลกนี้ พวกเขาทะยานอยากในกามารมณ์หรือมีความพอใจ จากการสัมผัสซึ่งมีความสุขที่สั้นมาก ซึ่งก็ได้พิสูจน์แล้วว่าจะต้องพบกับความเจ็บปวดอย่างมากหลังจากนั้น

การผูกพันยืดติดที่มากที่สุดคือ การผูกพันยึดติดกับร่างกายของตนเอง บ่วงพันธะทั้งหมดเหล่านี้เป็นรากเหง้าของความโศกเศร้าและความทุกข์ระทมทั้งหมด ดังนั้นมันเป็นสิ่งสำคัญเร่งด่วนสำหรับดวงวิญญาณที่จะต้องสลัดให้หลุดจากบ่วงพันธะเหล่านี้ เพื่อที่จะได้บรรลุถึงสภาวะของความเป็นอิสระและการหลุดพ้นทางดวงวิญญาณ

อะไรคือการหลุดพ้น (Mukti)
มีสองสภาวะของดวงวิญญาณซึ่งเป็นอิสระจากสำนึกแห่งการเป็นร่าง สภาวะแรก คือ เงียบสงบอย่างสมบูรณ์ ซึ่งไม่มีความเจ็บปวด ไม่มีความพอใจและไม่มีความปิติ มันเป็นการอยู่อย่างปราศจากความรู้สึกใดๆ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกอะไรก็ตาม เป็นที่รู้จักกันในนามของสภาวะแห่งการหลุดพ้น (Mukti) สภาวะนิรวาน (Nirvana) การหลุดพ้น การปลดปล่อยหรือการช่วยให้พ้นภัย มันมีอยู่ในพารามธรรมซึ่งเป็นบ้านที่เงียบสงบของทุกดวงวิญญาณที่จะไปอยู่ในตอนจบของกัลปเพียงเท่านั้น

หลังจากการทำลายของกลียุคโลกเก่า ดวงวิญญาณทั้งหมดจะกลับไปยังอาณาเขตที่เป็นธาตุแห่งแสง เรียกว่า "บราห์มา ตัตตะวา" (Brahma Tattwa) และอยู่ที่นั่นในสภาวะของการหลุดพ้น ณ ที่นั่นหน่วยงานทั้งสามของดวงวิญญาณ กล่าวคือ จิต สติปัญญาและสันสการ์แฝงตัวหรือไม่ปรากฏและสงบอยู่ชั่วคราว เมื่อดวงวิญญาณได้ลงมายังโลกแห่งความมีตัวตนเพื่อเล่นบทบาทใหม่อีกครั้งหนึ่งในกัลปหน้า พื้นฐานที่ดวงวิญญาณจะได้รับร่างใหม่ก็เป็นไปตามสภาวะของสันสการ์ของเขา

อะไรคือการหลุดพ้นจากบ่วงพันธะขณะที่มีชีวิต?
(Jeewan Mukti)
สภาวะที่สองคือ สภาวะของการหลุดพ้นจากบ่วงพันธะขณะที่มีชีวิต มันเป็นสภาวะของความสุขและความปิติสุขอย่างสมบูรณ์พร้อม คงที่และไม่มีสิ่งใดมาขัดความสุข ซึ่งดวงวิญญาณจะได้รับประสบการณ์นี้ขณะที่มีร่างกาย การหลุดพ้นจากบ่วงพันธะขณะที่มีชีวิตนี้เป็นความเพลิดเพลินของเหล่าเทพในสวรรค์ ระหว่างยุคทองและยุคเงินเหล่าเทพนั้นมีร่างกาย แต่ไม่มีร่องรอยแห่งการทนทุกข์หรือเจ็บปวดแม้แต่น้อยในขณะที่เข้ารับร่าง ขณะที่อาศัยอยู่ในร่างและขณะที่ออกจากร่าง ร่างกายของเหล่าเทพนั้นบริสุทธิ์อย่างยิ่งและปราศจากกิเลส ซึ่งผู้กราบไหว้บูชาทุกวันนี้ก็ยังกราบไหว้รูปปั้นและภาพวาดของเทพเหล่านั้น

เหล่าเทพได้รับสมญาว่าเป็นผู้ที่มีดวงตาเหมือนดอกบัว มีปากเหมือนดอกบัว มือและเท้าเหมือนดอกบัวและอื่นๆ อีก ทุกส่วนในร่างกายของเหล่าเทพถูกนำมาเปรียบกับคุณภาพของดอกบัว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธ์ พวกเขามีชีวิตที่ยืนยาวไม่มีการตายโดยไม่รู้ล่วงหน้า พวกเขามีความเต็มใจที่จะละร่างเมื่อถึงเวลาที่ร่างนั้นเข้าสู่วัยชรา พวกเขาได้รับนิมิตของร่างใหม่ล่วงหน้า ร่างที่พวกเขาจะไปอาศัยอยู่ในสภาวะของการหลุดพ้นจากบ่วงพันธะขณะที่มีชีวิต เหล่าเทพเป็นผู้ที่มีสุขภาพดี มั่งคั่งและมีความสุขอยู่ตลอด สภาวะเช่นนี้บราห์มินได้รับในฐานะที่เป็นมรดก ณ ยุคแห่งการบรรจบพบกันที่พระเจ้าผู้เป็นพ่อ ชีว่า มอบให้




การหลุดพ้น เปรียบเทียบกับ การหลุดพ้นในขณะที่มีชีวิต
สภาวะของการหลุดพ้นและการหลุดพ้นจากบ่วงพันธะขณะที่มีชีวิตมีลักษณะที่เหมือนกันหลายอย่างคือ ทั้งสองสภาวะพระเจ้า พ่อชีว่า เพียงผู้เดียวเท่านั้นที่สามารถประทานให้ได้ ทั้งสองสภาวะจะได้รับหลังจากการจบสิ้นกลียุค ทั้งสองสภาวะสามารถบรรลุถึงได้โดยดวงวิญญาณที่ได้รับการชำระให้บริสุทธิ์แล้วเท่านั้น ทั้งสองสภาวะจะนำมาซึ่งความจบสิ้นของความทุกข์ทรมานทั้งหมดของมนุษยชาติ

สภาวะการหลุดพ้นจากบ่วงพันธะขณะที่มีชีวิต (Jeewan Mukti) นั้นสูงกว่า สภาวะการหลุดพ้น (Mukti) ดวงวิญญาณทั้งหลายที่ได้รับการหลุดพันคงอยู่ในสภาวะที่เงียบสงบในพารามธรรม ขณะที่ดวงวิญญาณซึ่งบรรลุถึงการหลุดพ้นจากบ่วงพันธะขณะที่มีชีวิตได้เพลิดเพลินกับความสุขและความปิติอย่างสนุกสนานในสวรรค์

ในการหลุดพ้นดวงวิญญาณทั้งหลายถูกตัดขาดจากบทบาทในโลกที่มีตัวตน (ตราบเท่าที่สภาวะหลุดพ้นยังคงอยู่) ซึ่งหมายความว่าพวกเขาไม่มีโอกาสที่จะได้เล่นบทบาทที่ดีมีความสุขได้แม้เพียงบทบาทเดีย ในขณะที่การหลุดพ้นจากบ่วงพันธะขณะที่มีชีวิตพวกเขาไม่เพียงแต่จะเป็นอิสระจากกิเลสและความทุกข์ทรมานเพียงเท่านั้น แต่พวกเขายังได้เล่นบทที่มีความสุขและสนุกสนานในสวรรค์อย่างต่อเนื่อง

หลังจากกลียุคจบสิ้นลงดวงวิญญาณทั้งหมดก็จะบรรลุถึงการหลุดพ้นที่เป็นไปตามบทบาท ไม่ต้องใช้ความเพียรพยายามใดๆ ในการบรรลุถึงการหลุดพ้นของพวกเขา แต่การหลุดพ้นจากบ่วงพันธะขณะที่มีชีวิตจะได้รับเพียงเมื่อดวงวิญญาณได้รับความรู้ทางดวงวิญญาณจากพระเจ้าชีว่าและผ่านการฝึกฝนราชโยคะเท่านั้น ดวงวิญญาณที่ได้รับการหลุดพ้นเพียงอย่างเดียวจะต้องชำระบัญชีกรรรมของพวกเขาโดยการถูกลงโทษใน ธรรมราชบุรี (Dharamraj Puri) ขณะที่ผู้ที่ได้บรรลุถึงการหลุดพ้นในชีวิตจะพ้นจากการลงโทษมากน้อยตามระดับที่พวกเขาได้มีการชำระล้างบาปในอดีตของพวกเขา โดยผ่านความอุตสาหะพยายามทางดวงวิญญาณของพวกเขาเอง นั่นคือ ผ่านการฝึกฝนราชโยคะ บางคนไม่ต้องได้รับความทุกข์ทรมานจากการลงโทษใดๆ เลยและไปสู่สวรรค์โดยผ่านพารามธรรมอย่างมีเกียรติ

ด้วยเหตุนี้การหลุดพ้นเป็นเพียงสภาวะของความเงียบ มันไม่ใช่สถานภาพ ขณะที่การหลุดพ้นจากบ่วงพันธะขณะที่มีชีวิตเป็นสถานภาพที่สูงสุดของเทพที่ซึ่งมนุษย์ปรารถนาจะได้บรรลุถึง

ความแตกต่างระหว่างการหลุดพ้น และ การหลุดพ้นจากบ่วงพันธะขณะที่มีชีวิต
เราสามารถที่จะเข้าใจได้ง่ายๆ โดยผ่านสัญลักษณ์ง่าย ๆ ทางคณิตศาสตร์ คือ เครื่องหมาย ลบ(-) เครื่องหมายศูนย์ (0) และเครื่องหมายบวก (+) เครื่องหมายลบ(-) เป็นเครื่องหมายแทนบ่วงพันธะของดวงวิญญาณในยุคเหล็ก สภาวะความทุกข์ทรมานอย่างสมบูรณ์แบบ เครื่องหมายศูนย์ (0) แสดงถึงการหลุดพ้นซึ่งเป็นสภาวะของความเงียบ เครื่องหมายบวก (+) ชี้บอกถึงยุคทองของการหลุดพ้นจากบ่วงพันธะขณะที่มีชีวิต สภาวะของความสุขอย่างสมบูรณ์พร้อมตามที่แสดงไว้ข้างล่าง
ลบ (-)
กลียุคของบ่วงพันธะ (ชีวิตที่ติดกับ) สภาวะของความทุกข์ ความเจ็บปวดที่สุด
ศูนย์(0)
สภาวะของการหลุดพ้น นั่นคือ ความเงียบสงัดในพารามธรรม
บวก(+)
ยุคทองคือการหลุดพ้นจากบ่วงพันธะ ขณะที่มีชีวิต สภาวะของความสุขที่สมบูรณ์พร้อมขณะที่อยู่ในร่าง


แนวคิด โมกษะ (Moksha)
ซานยาสซีและสาวกของศาสนาอื่นๆ คิดว่าสภาวะการหลุดพ้นคือ โมกษะ หรือ นิพพาน นั้นสูงกว่าสภาวะของการหลุดพ้นจากบ่วงพันธะขณะที่มีชีวิต มันเป็นการคาดเดาเอาเองของพวกเขาว่าความโศกเศร้าและความทุกข์ที่เกิดขึ้นในโลกที่มีตัวตนนี้มีมาตั้งแต่ตอนเริ่มต้น พวกเขาคิดว่าร่างกายมนุษย์นั้นเป็นสาเหตุหลักของความเจ็บปวดและความทุกข์ระทมที่ดวงวิญญาณได้รับ เพราะว่ามันมีโรคภัยไข้เจ็บ ความแก่และความตาย

พวกเขาพูดว่าดวงวิญญาณไม่สามารถจะเป็นอิสระจากความทุกข์และความเจ็บปวดทั้งหมดได้ตราบเท่าที่ดวงวิญญาณยังมีบ่วงพันธะกับร่างและยังต้องกลับมาเกิด ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงตั้งเป้าของพวกเขาไปยังการหลุดพ้นจากวงจรของการเกิดและการตาย ความเพียรพยายามของพวกเขามีเป้าหมายไปสู่จุดที่พวกเขาคิดว่าสูงสุดนี้

พวกเขาเชื่อว่าทันทีที่ดวงวิญญาณบรรลุถึงการหลุดพ้น นั่นคือการหลุดพ้นไปจากวงจรของการกลับมาเกิดบนโลกนี้ตลอดไป โยคะของพวกซานยาส คือการมีโยคะกับ บราห์ม (Brahm-ธาตุแสง) พวกเขาเชื่อว่าหลังจากที่ได้บรรลุถึงการหลุดพ้น ดวงวิญญาณจะต้องหลอมรวมเข้าไปกับ บราห์ม อีกพวกหนึ่งค้นหานิพพานอมตะโดยคิดว่าดวงวิญญาณของพวกเขาจะหลอมรวมไปอยู่กับพระเจ้าในดินแดนนิพพานนิรันดร


ดวงวิญญาณไม่ได้หลอมรวมเข้ากับพระเจ้า
ทฤษฎีนี้ไม่สมเหตุผล และสะท้อนให้เห็นความไม่รู้จริงของผู้ที่มีความเชื่อเช่นนี้เกี่ยวกับดวงวิญญาณ พระเจ้า บราห์ม โลกละคร สวรรค์และนรก ฯลฯ มันเป็นการเข้าใจผิดที่จะยืนยันว่า เมื่อบรรลุถึงการหลุดพ้นดวงวิญญาณจะหลอมเข้าไปกับบราห์มหรือพระเจ้า

ดวงวิญญาณนั้นเป็นอมตะ ไม่สามารถถูกสร้างขึ้นหรือถูกทำลายได้ ผู้ที่ถูกหลอมรวมหมายถึงการจบสิ้นของการมีอิสระภาพแห่งการดำรงอยู่ ถ้าดวงวิญญาณหลอมรวมเข้ากับบราห์มหรือพระเจ้า เราจะถือว่ามันเป็นอมตะได้อย่างไร

บราห์มเป็นธาตุที่ไม่มีชีวิตแพร่กระจายอยู่ในพารามธรรม ขณะที่ดวงวิญญาณเป็นสิ่งสมบูรณ์ที่สามารถดำรงอยู่เป็นเอกเทศและมีชีวิตแล้วทั้งสองสิ่งจะหลอมรวมกันได้อย่างไร พระเจ้าเป็นผู้กำกับละครโลก ขณะที่ดวงวิญญาณมนุษย์เป็นผู้แสดงในละครโลก แล้วผู้แสดงจะสามารถหลอมรวมหรือละลายหลายเป็นส่วนหนึ่งของผู้กำกับได้อย่างไร

ไม่มีดวงวิญญาณสองดวงซึ่งเหมือนกัน ดวงวิญญาณแต่ละดวงนั้นมีบุคลิกภาพเป็นของตนเอง มีสันสการ์เป็นของตน และมีบทบาทของตนที่จะต้องเล่น ด้วยเหตุนี้ หน้าตาของคนสองคนก็มีลักษณะเฉพาะของตน (หรือแม้แต่ลายนิ้วมือ) ดังนั้นดวงวิญญาณไม่สามารถที่จะหลอมรวมกันได้หลังจากการหลุดพ้น แล้วจะมีความคิดเกี่ยวกับการหลอมรวมกับพระเจ้าได้อย่างไร

ดวงวิญญาณไม่สามารถกลายเป็นพระเจ้าผู้ซึ่งคงอยู่ตลอดไปได้ ดังนั้น ดวงวิญญาณสูงสุด จึงถูกเรียกว่า 
สัตยัม (Satyam) ผู้ที่เป็นอมตะ, ชีวัม (Shivam) ผู้ให้คุณประโยชน์ และ ซันดารัม (Sandaram) ผู้ที่งดงามที่สุด หลังจากการหลุดพ้นแล้วดวงวิญญาณก็กลับไปยัง พารามธรรม และอยู่ที่นั่นอย่างเป็นดวงวิญญาณที่แยกเป็นอิสระจากกัน ที่อยู่ของดวงวิญญาณคือ ปรโลก หรือ โลกวิญญาณ ชี้ให้เห็นว่ามันเป็นบ้านของดวงวิญญาณที่นับไม่ถ้วน มิฉะนั้น มันคงไม่ถูกเรียกว่าโลก มีพวกที่คิดอย่างผิด ๆ ว่าพระเจ้าอยู่ทุกหนทุกแห่งเพราะความไม่รู้และทันทีที่ความไม่รู้นั้นถูกทำลายลงเขาก็จะเข้าใจ อนึ่งถ้าพระเจ้าอยู่ทุกหนทุกแห่ง ท่านก็จะต้องกลายเป็นผู้ไม่รู้ไปด้วย แต่มันจะเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อพระเจ้านั้นเป็นผู้รอบรู้ทุกสิ่งตลอดกาล เห็นได้อย่างชัดเจนว่าความเชื่อนี้อยู่บนสมมุติฐานของความเชื่อที่ผิด

ไม่มีหลักฐานของการหลุดพ้นที่ถาวร
ไม่มีสิ่งสนับสนุนการกล่าวอ้างว่าดวงวิญญาณบรรลุถึงการหลุดพ้นอย่างถาวร ถ้ามีการหลุดพ้นอย่างถาวรจริง ก็จะไม่มีดวงวิญญาณใดสามารถกลับมายังโลกและพูดว่า บัดนี้ฉันได้อยู่ในพารามธรรมอย่างถาวรแล้ว และถ้ามีใครบางคนพูดถึงเรื่องนี้ คำพูดนั้นเป็นเพียงการคาดเดาของบุคคลนั้นโดยไม่มีประสบการณ์ที่เป็นจริง

ความจริงแท้ก็คือมนุษย์ปัจจุบันนี้ค้นหาการหลุดพ้นอย่างถาวรซึ่งเป็นการคาดหวังเอาเอง นั่นคือพวกเขาอยู่ในสภาวะที่มีบ่วงพันธะของทุกวันนี้และอยากไปให้พ้นไปอย่างถาวร สิ่งนี้พิสูจน์ตัวมันเองว่าไม่เคยมีสภาวะการหลุดพ้นที่ถาวรเลยในอดีต สิ่งนี้นำไปสู่การสรุปโดยอัตโนมัติว่า สภาวะเช่นนี้ไม่สามารถบรรลุถึงได้ในอนาคตด้วย แม้แต่พระเจ้าดวงวิญญาณสูงสุดก็ยังต้องลงมาบนโลกนี้ กัลปละหนึ่งครั้ง แล้วดวงวิญญาณมนุษย์จะได้รับสภาวะที่สูงกว่าพระเจ้าได้อย่างไร
ถ้าดวงวิญญาณทั้งหมดสามารถไปอยู่อย่างถาวรในโลกวิญญาณเหมือนอย่างที่คนเหล่านี้คิด ก็จะไม่มีความต้องการพระเจ้า พระเจ้าก็จะไม่ได้รับการจดจำว่าเป็นผู้ปลดปล่อย เป็นผู้นำทาง เป็นครูผู้สูงสุด ฯลฯ

การหลุดพ้นเป็นสภาวะชั่วคราว
อย่างที่ได้อธิบายไว้ตอนต้นแล้ว ดวงวิญญาณมนุษย์ทั้งหลายเป็นนักแสดงที่เป็นอมตะในละครโลกที่เป็นอมตะ ถ้าการหลุดพ้นมีจุดประสงค์เพื่อให้ดวงวิญญาณกลับไปยังพารามธรรมตลอดกาล แล้วละครนี้ก็ไม่สามารถถูกเรียกว่าเป็นละครอมตะได้ การเพิ่มของประชากรมนุษย์อย่างต่อเนื่องในโลกเป็นเครื่องชี้ชัดด้วยเช่นกันว่า ดวงวิญญาณไม่ได้อยู่ในสภาวะหลุดพ้นตลอดกาล 
ดวงวิญญาณที่หลุดพ้นอาจจะเปรียบได้กับเมล็ดพืช เมล็ดพืชมีความโน้มเอียงตามธรรมชาติที่จะเติบโตเป็นต้นพืช ดังนั้น ดวงวิญญาณมนุษย์ก็เช่นกัน มีความชอบเป็นธรรมชาติที่จะรับร่างที่จะแสดงบทบาทในโลกที่มีตัวตนนี้ เหมือนกับเมล็ดพืชที่มีแนวโน้มเป็นธรรมชาติที่จะงอกขึ้นมาเมื่อฤดูกาลมาถึง
เช่นเดียวกัน มันเป็นลักษณะที่เป็นธรรมชาติของทุก ๆ ดวงวิญญาณที่จะได้รับการกระตุ้นตามเวลาที่กำหนดไว้แล้วในกัลปเพื่อจะเล่นบทบาทในละครโลก


ในขณะที่ดวงวิญญาณแสดงบทที่ดีก็จะสนุกสนานกับการแสดงเป็นอย่างมาก แต่เมื่อเริ่มแสดงบทที่เลวก็เริ่มพ่ายแพ้ต่อมายา อันเป็นเหตุให้เกิดการพ่ายแพ้อย่างซ้ำ ๆ ทำให้เกิดการเบื่อหน่ายต่อการแสดง และทำให้ดวงวิญญาณค้นหาการหลุดพ้นจากบทบาทของตน แต่หลังจากที่ได้รับการหลุดพ้นก็เกิดควาปรารถนาที่จะแสดงขึ้นมาอีก เมื่อเวลาที่บทในละครได้มาถึงอีกครั้งหนึ่งในกัลปหน้า มันเหมือนกับเด็กที่พ่ายแพ้และเหนื่อยอ่อนต่อการเล่น ต้องการจะกลับไปนอน เด็กนั้นไม่ได้นอนอยู่ตลอดไป เมื่อการนอนเป็นเพียงสภาวะการพักผ่อนชั่วคราว หลังจากช่วงหนึ่งเขาก็กลับมามีความปรารถนาที่จะเล่นอีก

ดวงวิญญาณมนุษย์เป็นอมตะจะผ่านสภาวะต่าง ๆ จากการหลุดพ้นไปสู่การหลุดพ้นจากบ่วงพันธะขณะีที่มีชีวิต และไปสู่ชีวิตที่มีบ่วงพันธะ แล้วก็เริ่มการหลุดพ้นอีกครั้งหนึ่ง เป็นไปในรูปของวงจร สภาวะเหล่านี้ไม่มีความถาวรหรือคงที่ เพราะว่าละครโลกเองนั้นเป็นสภาวะที่เคลื่อนไหวหมุนไปเป็นนิรันดร

ทั้งการหลุดพ้นและการมีบ่วงพันธะไม่เป็นอมตะ
ประเด็นข้างบนอาจจะอธิบายเป็นอย่างอื่นได้ด้วยความปรารถนาอย่างมากต่อการหลุดพ้น แสดงว่าดวงวิญญาณได้เคยมีประสบการณ์ของการหลุดพ้นจากบ่วงพันธะในอดีต แต่ปัจจุบันมันได้ห่างไกลจากสภาวะนั้น บ่วงพันธะนั้นก็ไม่ได้คงอยู่มาตั้งแต่อนันตกาลมันเป็นเช่นนั้น ดวงวิญญาณไม่สามารถกำจัดมันไปได้ เพราะว่าอะไรก็ตามที่เป็นอมตะจะต้องมีอยู่ตลอดไป

ดังนั้นการหลุดพ้นหรือการช่วยให้พ้นภัยหมายถึง การเป็นอิสระ การปลดปล่อย หรือความมีอิสระจากบ่วงพันธะ มันแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงสภาวะของดวงวิญญาณก่อนที่จะมีบ่วงพันธะได้กลับมามีบ่วงพันธะในภายหลัง อีกอย่างหนึ่งบ่วงพันธะชี้ให้เห็นถึงสภาวะของความเป็นอิสระจากบ่วงต่าง ๆ ซึ่งเคยมีมาก่อน ซึ่งบัดนี้ดวงวิญญาณต้องการจะเป็นเช่นนั้นอีกครั้งหนึ่ง นี่หมายความว่าดวงวิญญาณจะกลับมาสู่สภาวะดั้งเดิมของการหลุดพ้นแต่มันจะไม่คงอยู่ตลอดไป
สำหรับดวงวิญญาณมนุษย์ การหลุดพ้นเป็นสภาวะที่จะได้รับ(และสูญเสีย) และมันไม่ได้เป็นมรดกที่ถาวรของพวกเขา พระเจ้าพ่อชีว่าเพียงเท่านั้นที่สามารถประทานการหลุดพ้นและการหลุดพ้นจากบ่วงพันธะขณะที่มีชีวิต หลังจากการทำลายล้างความไม่ชอบธรรมและสวรรค์ ท่านนี่เองที่ปลดปล่อยแม้แต่ นักบุญ สาธุ ซานยาสซี และผู้ก่อตั้งศาสนาต่าง ๆ ทั้งหมด รวมทั้งดวงวิญญาณของราชวงศ์เทพได้กลับไปสู่สวรรค์โดยผ่านพารามธรรม ซึ่งได้มีการสร้างขึ้นอีกครั้งหนึ่งบนโลก เป้าหมายของทุกดวงวิญญาณอยู่ในมือของพวกเขาเองและพวกเขาจะต้องตัดสินใจ ณ บัดนี้ว่าจะไปนรกหรือไปสวรรค์


จากหนังสือ "ราชโยคะ ศาสตร์เพื่อการรู้แจ้ง"
BK.เรืออากาศเอกทรงยศ เปี่ยมใจ


No comments:

Post a Comment